เมืองกล้วยไม้ และ พิพิธภัณฑ์
“วิถีกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก”


ประวัติความเป็นมา
ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก เป็นบุคคลผู้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในวงการกล้วยไม้ไทย โดยท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 95 ปี ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานให้เป็น บิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตร และสหกรณ์ใน อย่างไรก็ตามท่านยังเป็นผู้วางรากฐานให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการเริ่มต้นการวิจัยกล้วยไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้พื้นเมืองของภาคเหนือ ที่มีระบบนิเวศแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ตลอดจนร่วมพัฒนาการขยายพันธุ์กล้วยไม้ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งส่งต่อมาถึงการพัฒนาศูนย์กล้วยไม้ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน จากการที่ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก ได้ให้ความสำคัญกับกล้วยไม้ในประเทศไทยแล้ว ท่านยังเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนี้ในระดับสากลดังที่กล่าวในการประชุมวิชาการ Japan Flora ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี2543 ว่า “ผมยอมรับว่าผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมได้เพาะกล้วยไม้เมล็ดแรกลงบนผืนแผ่นดินนี้ตั้งแต่ยังพอจำความได้ แล้วก็มุ่งมั่นรดน้ำบำรุงรักษาจนกระทั่งเขาเจริญเติบโตขึ้นมามีดอกสวยงามให้คนเขาชื่นชมสมใจ ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติจนกระทั่งทั่วโลก แต่ว่าไม้ใช่พันธุ์กล้วยไม้ที่คนมองเห็น พันธุ์เหล่านั้นดอกมันบานแล้วก็โรยไป แต่กล้วยไม้พันธุ์นี้นอกจากจะอยู่เป็นอมตะแล้ว ยังถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังได้ด้วย ผมตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์นี้ว่า ความรักในเพื่อนมนุษย์” แม้ปัจจุบันจะมีนักเพาะเลี้ยง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้อยู่มากมาย แต่ชื่อของศาสตราจารย์ดร.ระพี สาคริก จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ที่โครงการห้องสมุดระพี สาคริก ภายในห้องสมุดแห่งชาติ หรือสวนกล้วยไม้ระพี ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลัง ดังนั้นความผูกพัน และการขยายงานวิจัยของท่านที่แผ่มาถึงมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น จึงควรค่าแต่การรวบรวมจัดตั้งเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ รำลึกคุณูปการในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะผลงานด้านการค้นคว้า และส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งการปรับปรุงพันธุ์ ขยายพันธุ์ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก โดยวางแบบการจัดวางพิพิธภัณฑ์“วิถีกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก” ไว้ดังนี้
1. พื้นที่มุมโต๊ะทำงานท่าน และของใช้ส่วนตัวของศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก
2. พื้นที่จัดแสดงรูปภาพ (ภาพถ่าย-ภาพวาด-ภาพถ่ายหมู่ของนักวิจัยที่ถ่ายกับท่านในช่วงท่านมาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยแม่โจ้
3. พื้นที่จัดแสดงตัวอย่างกล้วยไม้ ที่สำคัญ เช่น ตัวอย่างแห้ง ภาพวาดสัณฐานวิทยากล้วยไม้ และอุปกรณ์จัดเก็บตัวอย่างกล้วยไม้ และ
4. พื้นที่นิทรรศการ เช่น โปสเตอร์แสดงแบบประวัติคร่าว ๆ อาจารย์ระพี หรือ ผลงานศูนย์กล้วยไม้แม่โจ้ หรือ ขอบเขตงานของ orchid city เป็นต้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมผลงานทางวิชาการ ตัวอย่าง และสื่อวีดีทัศน์กล้วยไม้ไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก
2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ผลงานด้านกล้วยไม้ และส่งเสริมผลงานงานวิจัยภายใต้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในระดับสากล


ภารกิจ
1. เป็นโครงการที่รวบรวมผลงานทางวิชาการ งานวิจัย และชีวประวัติของศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก บิดาของกล้วยไม้ไทย
2. เป็นโครงการที่รวบรวมผลงานทางวิชาการ งานวิจัย ผลผลิตกล้วยไม้ของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแม่โจ้
3. เป็นโครงการที่จัดแสดง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกล้วยไม้ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การดำเนินงาน
1. แต่งตั้งคณะทำงาน ประชุมคณะทำงาน เพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “วิถีกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก”
2. วางแผนการปฏิบัติงาน ตามแผนการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ “วิถีกล้วยไม้ ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก”
3. รวบรวมประวัติ ผลงาน และองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์ รำลึกคุณูปการในด้านต่าง ๆ ของศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก
4. ประชุมติดตามผลการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคของโครงการ













